Social Icons

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เกมการเงิน...เกมแห่งชีวิต

หากเปรียบการเงินเป็นเกม เราสามารถแบ่งระดับความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงินของคนเราออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามเกมการเงินที่แต่ละคนเลือกเล่นได้ ดังต่อไปนี้
     1. ชีวิตขัดสน (Struggling) หมายถึง ชีวิตที่มีเงินไม่พอใช้ มีรายได้ทางเดียว รายรับน้อยกว่ารายจ่าย ใช้ชีวิตแบบ ‘เดือนชนเดือน’ หนักเข้าหน่อยก็เดือนชนครึ่งเดือน สุดท้ายต้องหยิบยืมเป็นหนี้เป็นสิน อย่าถามว่ามีทรัพย์สินหรือไม่ แค่เอาชีวิตรอดในแต่ละเดือนยังเหนื่อยเลย
     2. ชีวิตพอมีพอกิน (Surviving) หมายถึง ชีวิตที่ดูแลตัวเองได้ รายรับชนะรายจ่าย มีเหลือเก็บบ้างตามอัตภาพ มีหนี้สินบ้างเล็กน้อย แต่ก็พอมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง มีความคาดหวังที่จะลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน แต่ยังขาดความรู้ ทำให้ไม่กล้าที่จะเริ่ม
     3. ชีวิตพุ่งทะยาน (Striving) หมายถึง ชีวิตที่กำลังเริ่มต้นสร้างความมั่งคั่งทางการเงิน มีชีวิตที่พ้นจากปัญหารายวัน มีเกราะป้องกันความเสี่ยงในอนาคต มีความรู้ทางการเงินมากพอที่จะเริ่มต้นลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับตัวเอง
     4. ชีวิตที่สุขสบาย (Comfortable) หมายถึง ชีวิตที่มั่งคั่ง มีพร้อมทุกสิ่งที่ต้องการ มีรายได้ส่วนใหญ่จากทรัพย์สิน มีอิสระด้านความคิดและเวลาที่จะเลือกใช้ชีวิตได้ตามต้องการ
     5. ชีวิตแบ่งปัน (Charitable) หมายถึง ชีวิตที่เพียบพร้อมและเต็มใจที่จะเผื่อแผ่แบ่งปัน และอุทิศเวลาของตนให้กับผู้คนและสังคมอันเป็นที่รัก

    ชีวิตของคุณกำลังเล่นอยู่ในเกมไหน?
    จากที่มีโอกาสไปบรรยายสัมมนาด้านการเงินหลายครั้งที่ผ่านมา ผมพบว่าคนส่วนใหญ่กำลังเล่นอยู่ในเกมการเงินระดับที่ 1 และ 2 สำหรับระดับ 3 มีอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนระดับ 4 และ 5 นั้นมีอยู่ค่อนข้างน้อย
     แน่นอนว่าชีวิตในระดับ 4 และ 5 เป็นชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขและปราศจากเรื่องกังวลใดๆ ดังนั้นใครที่อยู่ในระดับนี้แล้ว ผมก็คงต้องกล่าวคำว่า “ยินดีด้วยครับ” โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระดับ 4 ถ้าสามารถปรับเข้าสู่ระดับที่ 5 ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับด้านความคิดที่มีต่อส่วนรวม สังคมของเราก็คงจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น
     ส่วนผู้ที่อยู่ในระดับ 3 นั้น ชีวิตของคุณกำลังก้าวหน้า เปี่ยมด้วยความมั่นใจ เต็มไปด้วยความหวัง เหลือเพียงดำรงชีวิตภายใต้วินัยการเงิน รักษาความต่อเนื่อง คุณก็สามารถก้าวไปถึงความมั่งคั่งในระดับที่สูงขึ้นไปได้
     อันที่จริงแล้วชีวิตคนเรานั้นไม่จำเป็นที่จะต้องทุ่มเทเพื่อไปให้ถึงระดับ 4 และ 5 กันทุกคนหรอก สำหรับความคิดของผมนั้นแค่อยู่ในเกมการเงินระดับที่ 3 ภายใต้การมีความรู้ทางการเงินที่เหมาะสม ก็ถือว่าน่าจะเพียงพอแล้ว

     ทำไม? แค่ระดับที่ 2 ถึงไม่เพียงพอ
     ในความเป็นจริงการมีชีวิตอยู่แบบพอมีพอกิน เหลือใช้เหลือเก็บบ้าง ก็ถือได้ว่าเป็นชีวิตที่มีความสุขแล้ว แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปในชีวิตของคนที่เล่นเกมการเงินในระดับที่ 2 ผ่านแว่นขยายชื่อ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ตามแนวพระราชดำรัสในหลวง ซึ่งประกอบด้วย
     ‘ความมีเหตุผล’ ‘การรู้จักพอประมาณ’ และ ‘การมีภูมิคุ้มกัน’ ก็จะพบว่า ชีวิตในระดับที่ 2 นั้นไม่ได้มีเครื่องรับประกันอนาคตเลยว่า ความพออยู่พอกินนี้จะยังมีอยู่หรือไม่ หากสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเมื่อถึงวัยเกษียณที่ไม่มีใครจ้างทำงานแล้ว
     ดังนั้นหากคนในกลุ่มระดับที่ 2 นี้รู้จักวิธีการบริหารจัดการเงิน วางแผนการเงิน จัดการความเสี่ยง รวมไปถึงการลงทุนเพื่อการเกษียณจากการทำงาน พวกเขาก็จะมี ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่พร้อมรับและเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในอนาคต และทำให้มั่นใจได้ว่า ชีวิตจะมีความสุขไปได้ตลอด และอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะขยับสู่ระดับที่ 3 4 และ 5 ที่มีความมั่นคงขึ้นได้
     ส่วนคนที่อยู่ในระดับที่ 1 งานของคุณอาจจะหนักกว่าคนอื่นๆ อยู่สักหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะไปถึงระดับที่มั่นคงไม่ได้ ขอเพียงอย่างเดียวคือ คุณมีความมุ่งมั่นอดทนและตั้งใจที่จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จทางการเงินจริงๆ ก็พอ
     เพราะในโลกการเงินนั้น ทุกสิ่งเรียนรู้และพัฒนากันได้เสมอ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุนโฆษณาโดย


 
Blogger Templates