Social Icons

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

รังสรรค์ ต่อสุวรรณ: อาจารย์ สถาปนิก นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย (1)

เห็นข่าวกลุ่มเกษรเปิดตัว เกษรวิลเลจ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็ทำให้รู้สึกใจหายบอกไม่ถูกที่ต่อไปจะไม่ได้เห็น อัมรินทร์พลาซ่า อย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป เพราะมันถูกควบรวมไปเป็นหนึ่งในสามอาคารของเกษรวิลเลจไปเรียบร้อย
​     อัมรินทร์พลาซ่าถือเป็นหมุดหมายสำคัญของธุรกิจผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและวงการสถาปัตยกรรมประเทศไทย และยังถือว่าเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดอาคารหนึ่งในชีวิตการเป็นสถาปนิกของ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของวงการ
​     ภาพจำของคนทั่วไปที่มีต่องานออกแบบสถาปัตยกรรมของรังสรรค์คงหนีไม่พ้นงานสถาปัตยกรรมแบบโพสต์โมเดิร์นที่ใช้องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมกรีกและโรมันมาใช้ในงานออกแบบสมัยใหม่ ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่าที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2527 คืองานออกแบบที่สร้างชื่อเสียงในวงสังคมทั่วไปให้กับ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ มากที่สุด และก็เป็นผลงานที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดเช่นกัน

ห้างสรรพสินค้าอัมรินทร์พลาซ่า แยกราชประสงค์ 

​     30 กว่าปีที่แล้ว ไม่มีใครในกรุงเทพฯ ไม่รู้จักอัมรินทร์พลาซ่าที่แยกราชประสงค์ ตอนเด็กๆ ผมเรียกห้างนี้ว่า ‘โซโก้’ ตามชื่อของห้างญี่ปุ่นที่เปิดอยู่สมัยนั้น เวลาจะกินแมคโดนัลด์ก็ต้องมาที่นี่ เพราะบรรยากาศดี และถือเป็นแมคฯ สาขาแรกของไทย นี่คือศูนย์การค้ายุคใหม่ที่มีรีเทล-ห้างสรรพสินค้า-เอเทรียม อยู่ด้วยกันในอาคารเดียว
​     รังสรรค์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ คุยกับสถาปนิกต้นแบบ ของสำนักพิมพ์ลายเส้น ถึงตอนที่ออกแบบศูนย์การค้านี้ว่า ตอนแรกเขาออกแบบออกมาเป็นสไตล์โมเดิร์น แต่พอเอาแบบไปเจรจาขายพื้นที่ล่วงหน้า ปรากฏว่าไม่มีใครเอาแบบนี้เลย ต้องรอให้สร้างเสร็จก่อนถึงจะซื้อ เขาพบว่าคนที่เรียนจบมาสูงมากๆ และนักธุรกิจใหญ่มักจะไม่มีเซนส์ด้านสถาปัตยกรรม พวกเขาดูแบบจากภาพ perspective ก็ไม่ค่อยจะเป็น ต้องรอดูจากของจริงเท่านั้น เลยต้องออกแบบใหม่ให้ออกมาแล้วคนทั่วไปเห็นแล้วรู้จัก เขามองว่าคนไทยส่วนมากยกย่องให้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความหรูหรา มีรสนิยมที่ดี เขาเลยดึงเอารูปแบบของสถาปัตยกรรมคลาสสิกมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ
​     วันที่พรีเซนต์แบบให้กับเจ้าของโครงการดูนั้น ในที่ประชุมไม่มีใครพูดอะไรออกมา ยกเว้นลูกสาวเจ้าของโครงการที่ปฏิเสธไม่เอาแบบที่เขาพรีเซนต์โดยเด็ดขาด เธออยากได้อาคารที่โค้งๆ เหมือนห้างพันธ์ทิพย์พลาซ่าตรงประตูน้ำ ซึ่งรังสรรค์ก็ได้ตอบกลับไปว่าเขาสามารถออกแบบแบบที่ต้องการได้ ไม่มีปัญหา แต่คิดว่าคงขายไม่ออก เพราะตอนนั้นศูนย์การค้าอัมรินทร์ต้องการแข่งกับมาบุญครองพลาซ่าที่แยกปทุมวัน ซึ่งมาบุญครองพรีเซนต์ตัวเองว่าเป็นศูนย์การค้าที่ทำจากหินอ่อนทั้งหลัง แถมสเกลก็ใหญ่กว่า เขาพูดกับลูกสาวเจ้าของโครงการว่า “นี่คือธุรกิจ ไม่ได้สร้างบ้านให้คุณ แต่เขากำลังหาเงินให้ คนที่จะมาอยู่จริงๆ คือคนซื้อพื้นที่ ไม่ใช่พวกคุณ”
​     ภายหลังจากการประชุมกันครั้งนั้นก็ได้ข้อสรุปว่า รังสรรค์ต้องทำสัญญากับเจ้าของโครงการว่า ถ้าหากแบบที่เขาทำมาขายไม่ออก เขาจะต้องออกแบบให้ใหม่โดยไม่คิดค่าแบบแม้แต่บาทเดียว แถมด้วยข้อเสนอจากรังสรรค์ต่อลูกค้าว่า นอกจากจะออกแบบให้ใหม่โดยไม่คิดค่าแบบแล้ว แบบเก่าก็จะไม่เก็บเงินแม้แต่บาทเดียวเช่นกัน
​     อัมรินทร์พลาซ่าถือเป็นอาคารหลังแรกที่รังสรรค์ต้องทำหน้าที่เหมือนกับเซลล์ขายพื้นที่รีเทลส่วนพลาซ่าไปด้วย เขาต้องพบผู้ประกอบการเจ้าของร้านบูติกหลายราย เอาแบบไปเสนอ และน่าแปลกที่ทุกคนก็เชื่อว่าจะออกมาหรูหราอลังการ โครงการนี้ขายหมดใน 7 วัน เป็นโครงการแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่จ่ายเงินดาวน์ 100% นอกจากเป็นเซลล์แล้ว เขายังช่วยดูแล cash flow ให้เสร็จอีกต่างหาก
​     ถึงแม้จะถูกใจผู้เช่าและเจ้าของเป็นอย่างมาก แต่ปรากฏว่าโครงการนี้ก็ถูกวิพากษ์ซะยับเยินจากบรรดาสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงหลายคนที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกับรังสรรค์ เรื่องหลักๆ ที่พวกเขาวิพากษ์กันก็คือ เรื่องความเหมาะสมของการเอาหัวเสากรีกโรมันมาใช้ในประเทศไทย การผสมผสานอาคารกระจกลักษณะโมเดิร์นด้านบนกับฐานที่มีลักษณะคลาสสิกมันออกมาเป็นเหมือนหัวมังกุท้ายมังกรอย่างไรอย่างนั้น และแม้แต่ข้อหาที่ร้ายแรงว่า เพราะอัมรินทร์พลาซ่านี่แหละที่ทำให้หน้าตาของโครงการอื่นๆ ที่ต้องการแสดงถึงความหรูหราก็มักจะหยิบเอาเสาโรมัน หน้าบัน รูปปั้นกรีกโรมันไปใช้กันแทบจะทุกโครงการ เกิดเป็นสถาปัตยกรรมแบบโพสต์อัมรินทร์พลาซ่าไปหมดทั้งในกรุงเทพฯ และลามไปถึงจังหวัดอื่นๆ อย่างถ้วนหน้า
​     รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เกิดเมื่อปี 2482 โตมาที่ย่านสวนมะลิ สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่หลงใหลนิยายภาพของจีนอย่าง สามก๊ก หานซิ่น ไม่ก็ จิ๋นซีฮ่องเต้ เลยฝึกวาดตามอย่างนิยายภาพพวกนี้ ชนะประกวดวาดภาพสีน้ำตอนเรียนมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วยเทคนิคระบายสีด้วยนิ้วแทนพู่กัน และได้รับการพูดถึงตั้งแต่ตอนเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แล้วว่าเป็นนิสิตที่มีพรสวรรค์ในการเขียนภาพ perspective ชนิดหาตัวจับยาก เขาเริ่มงานสถาปนิกด้วยการเป็นผู้ช่วยอาจารย์ของตัวเอง กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 3 จนเรียนจบที่จุฬาฯ และไปเรียนต่อปริญญาโทที่ MIT เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา
 
รังสรรค์ ต่อสุวรรณ กับภาพ perspective โครงการ Sathorn Unique Tower
ถ่ายภาพโดย ปิยพงศ์ ภูมิจิตร
 
​     ช่วงเรียนปริญญาโทที่ MIT เขามีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นสถาปนิกชาวอาร์เจนตินาชื่อ เอดูอาร์โด คาตาลาโน (Eduardo Catalano) ที่สตูดิโอนี้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนกันอย่างเข้มข้น ใครเรียนไม่ไหวจะถูกคัดออก และทุกคนต้องพร้อมที่จะนำเสนองานได้ทุกเวลาไม่ว่าจะตอนเที่ยงคืนหรือเที่ยงวัน นอกจากเรียนด้วยกันแล้ว คาตาลาโนยังดึงตัวเขาไปช่วยงานที่ออฟฟิศส่วนตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ จนเขาไม่มีเวลาทำธีสิสของตัวเองเท่าไร อิทธิพลบางอย่างจากการได้เรียนและได้ทำงานกับคาตาลาโนน่าจะส่งผลบางอย่างในผลงานออกแบบช่วงแรกๆ หลังจากที่กลับมาประเทศไทยในปี 2510 งานของคาตาลาโนจะออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ตัดทอนทุกอย่างที่เป็นแค่ของประดับตกแต่งออกไป บางทียังเอาออกกระทั่งแผงกันแดด

บริษัท กมลสุโกศล จำกัด
 
​     งานออกแบบสมัยที่เริ่มเปิดสำนักงานออกแบบขนาดเล็กของตัวเองไปพร้อมๆ กับเป็นอาจารย์ประจำที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ของรังสรรค์เป็นงานสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือย รูปทรงและหน้าตาดูหนักแน่น ดุดัน แบบที่เราเรียกว่าสถาปัตยกรรมแนว Brutalism ตัวอย่างเช่น งานออกแบบบ้านของเขาเองแถวพระราม 3 อาคารสำนักงานและโรงงานมาสด้าที่ถนนวิภาวดี (ปัจจุบันคือสำนักงานใหญ่นครชัยแอร์) บริษัท กมลสุโกศล ที่ยศเส และอีกหนึ่งอาคารที่ผมชอบที่สุดในจุฬาฯ นั่นคืออาคารคณะสัตวแพทยศาสตร์ ที่อยู่ตรงถนนอังรีดูนังต์
 
อาคารโชคชัยอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ออกแบบอาคารแบบกรุกระจกรอบนอกตามกระแสสถาปัตยกรรมสากลในยุคสมัยนั้น
แต่ก็ยังคงคำนึงถึงการวางผังอาคารตามสถาปัตยกรรมเขตร้อน
 
​     ปี 2512 โชคชัย บูลกุล เห็นช่องทางธุรกิจอาคารให้เช่า เป็นตึกสูงแบบที่มีการจัดวางระบบลิฟต์ โทรศัพท์ภายใน และระบบปรับอากาศ เขาลงทุนซื้อที่ดินย่านพร้อมพงษ์จำนวน 2 ไร่ครึ่ง และว่าจ้างรังสรรค์ให้รับหน้าที่ออกแบบอาคารสูงหลังนี้ขึ้น  โชคชัยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าที่เขาเลือกรังสรรค์ เพราะหลายคนแนะนำมา และตอนนั้นรังสรรค์เพิ่งเรียนจบกลับมาใหม่ๆ กำลังไฟแรง ถึงแม้จะยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการสร้างตึกสูงแบบนี้มาก่อน แต่ก็เชื่อมือว่ารังสรรค์น่าจะทำได้ และเขาก็ทำออกมาเป็นอาคารกรุกระจกรอบนอกตามกระแสสถาปัตยกรรมสากลในยุคสมัยนั้น โดยที่ยังคงคำนึงถึงการวางผังอาคารตามสถาปัตยกรรมเขตร้อน เพื่อประหยัดพลังงานภายใน เลยมีกระจกกรุรอบนอกอยู่แค่ส่วนหน้าอาคารเท่านั้น อาคารนี้คือ โชคชัยอินเตอร์เนชั่นแนล มีความสูง 26 ชั้น ในสมัยนั้นถือว่าเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย ตอนนี้ก็คือ อาคารที่ด้านล่างมีธนาคารยูโอบี ริมถนนสุขุมวิทระหว่างซอย 24 กับ 26 นั่นเอง
 
คาแรกเตอร์ของงานสถาปัตยกรรมธนาคารกสิกรที่ดีไซน์มาจาก "รวงข้าว" ซึ่งเป็นโลโก้ของธนาคารกสิกรที่เราคุ้นตากันดี
 
​     หลังจากนั้นไม่นาน รังสรรค์มีโอกาสได้ออกแบบธนาคารกสิกรไทยอยู่หลายสาขา โจทย์ที่ได้รับจากประธานธนาคารกสิกรในสมัยนั้นก็คือ ให้ออกแบบสาขาธนาคารแต่ละแห่งให้มีเอกลักษณ์ แต่ละสาขาไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แผงคอนกรีตที่ปรับรูปแบบมาจากโลโก้ของธนาคารที่เป็นรวงข้าวได้สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับธนาคารในสมัยนั้น จนกลายเป็นภาพจำสำหรับคนที่เข้ามาใช้บริการได้เป็นอย่างดี สาขาที่เราน่าจะคุ้นตาเพราะมีคาแรกเตอร์ของงานสถาปัตยกรรมบางอย่างร่วมกันก็อย่างเช่น สาขาสาทร สาขาสะพานเหลือง สาขาลาดพร้าว สาขาพระโขนง และสาขามหาชัย

 
"ระบบโครงสร้างลูกแก้ว" โครงสร้างบึกบึนผสานความอ่อนช้อยในแบบของรังสรรค์ 
 
​     ลักษณะโครงสร้างที่ดูบึกบึนแต่ก็อ่อนช้อย จากยอดสุดที่เป็นสี่เหลี่ยมค่อยๆ เปลี่ยนเป็นโค้งก่อนที่จะพลิ้วกลายเป็นเสา ที่เราเห็นในงานธนาคารกสิกรไทยสาขาต่างๆ หลายคนอาจจะมองว่าเหมือนแก้วไวน์ หรือว่าฟอร์มของต้นไม้ แต่รังสรรค์เรียกโครงสร้างนี้ว่า ระบบโครงสร้างลูกแก้ว โครงสร้างนี้ปรากฏต่อเนื่องอยู่ในงานช่วงหนึ่งของรังสรรค์ นั่นก็คือ โรงพยาบาลสมิติเวช ที่ซอยสุขุมวิท 49 โรงงานพิมพ์ผ้าไทปิงที่อยู่ท้ายซอยทองหล่อ และบ้านบุญนำทรัพย์ที่ถนนนางลิ้นจี่

โรงพยาบาลสมิติเวชที่รังสรรค์ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนกับโรงแรมห้าดาว 
มีส่วนโถงขนาดใหญ่เหมือนล็อบบี้โรงแรม รวมไปถึงระเบียงห้องพักผู้ป่วยที่มีขนาดใหญ่ไว้สำหรับญาตินั่งกินข้าวเพื่อที่กลิ่นจะได้ไม่รบกวนผู้ป่วย  
 
​     โดยเฉพาะโรงพยาบาลสมิติเวช ที่สมัยนั้น บัญชา ล่ำซำ ประธานธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้มอบหมายให้เขาออกแบบ โดยให้อิสระในการออกแบบค่อนข้างมาก รังสรรค์จัดการเปลี่ยนโฉมหน้าของโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ สมัยนั้นด้วยการออกแบบให้มีลักษณะเหมือนกับโรงแรมห้าดาว รูปแบบอาคารที่มีการจัดวางองค์ประกอบที่ดูประหลาด การปรับขยายส่วนโถงพักคอยให้มีขนาดใหญ่และสวยงามเหมือนล็อบบี้โรงแรม ห้องพักผู้ป่วยก็มีระเบียงขนาดใหญ่เตรียมไว้ให้ญาติผู้ป่วยที่มาเยี่ยมได้มีพื้นที่ไว้กินอาหาร เพื่อไม่ให้กลิ่นอาหารเข้าไปรบกวนผู้ป่วย และก็อย่างที่เดากันได้ว่า โปรเจกต์ที่มีคอนเซปต์แรงขนาดนี้ในสมัยนั้นย่อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากเหล่าแพทย์และพยาบาลที่ทำงานที่สมิติเวช เพราะถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่แปลกเกินกว่าจะทำใจยอมรับกันได้ง่ายๆ

ธนาคารกสิกร สาขาสำนักงานใหญ่ รังสรรค์ออกแบบโดยใช้ระบบกระจกแบบ Curtain Wall
พร้อมทั้งมีลานขนาดหน้าอาคารขนาดใหญ่ ประดับประดาด้วยประติมากรรม 
ให้ความรู้สึกคล้ายกับอาคารสำนักงานระดับแนวหน้าของอเมริกาในสมัยนั้น
 
​     ปี 2524 หลังจาก บัญชา ล่ำซำ กลับจากดูงานที่สหรัฐอเมริกา เขาก็ได้นำความคิดที่จะสร้างอาคารกล่องกระจกที่กำลังได้รับความนิยมในสมัยนั้นมาสร้างอาคารสำนักงานใหญ่หลังใหม่ที่ถนนพหลโยธิน โดยมอบหมายให้รังสรรค์เป็นคนออกแบบอาคารหลังนี้ และถือเป็นอาคารหลังแรกของไทยที่ใช้ระบบกระจกแบบ Curtain Wall รวมทั้งมีการสร้างลานขนาดใหญ่หน้าอาคารและวางประติมากรรมขนาดใหญ่ไว้ด้านหน้าไม่ต่างจากอาคารสำนักงานระดับแนวหน้าของอเมริกาในสมัยนั้น อาคารนี้ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการใช้กระจก ที่สถาปนิกชื่อดังสมัยนั้นจะทักท้วงถึงแสงสะท้อนที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน ความร้อนที่สะท้อนจะทำให้แถวนั้นยิ่งเกิดความร้อนระอุ หรือแม้แต่กระจกเหล่านั้นจะหล่นลงมาทับคนที่เดินผ่านตึกบ้าง สุดท้ายเจ้าของธนาคารก็เปลี่ยนสเปกระบบกระจกให้เป็นแบบที่ปลอดภัยที่สุดและแพงที่สุดเพื่อให้คงแบบตามที่รังสรรค์ได้ออกแบบเอาไว้ และเราก็ได้เห็นอาคารนี้ถูกใช้งานได้เป็นปกติจนถึงทุกวันนี้

​     หลังจากเป็นสถาปนิกและมีชื่อเสียงจากผลงานออกแบบมาหลายโครงการ ก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เปลี่ยนมาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว
(อ่านต่อตอนต่อไป)

ภาพตึกที่ออกแบบโดยรังสรรค์ ต่อสุวรรณ: Pansit Torsuwan
ภาพประกอบ: Karin Foxx

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุนโฆษณาโดย


 
Blogger Templates