Social Icons

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

ผู้สมัคร ส.ส.พลังประชารัฐ ปลุกเลิกวาทกรรม หันมาใส่ใจนโยบายสตรี

ผู้สมัคร ส.ส.พลังประชารัฐ ปลุกเลิกวาทกรรม หันมาใส่ใจนโยบายสตรี

พลังประชารัฐ “ธนิกานต์” ปลุกเลิกวาทกรรมการเมือง หันมาใส่ใจนโยบายสตรี ผุดไอเดีย “บางกอก เอสโอเอส” แอปรวบรวมเอาทุกหน่วยงานฉุกเฉิน จัดเต็มนโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตผู้หญิงในทุกด้าน 
วันที่ 14 มี.ค. ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการนโยบายสตรี ผู้สมัคร ส.ส. เขตบางซื่อ-ดุสิต เบอร์ 4 เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายพรรคเรื่องสตรี เห็นว่า เรื่องผู้หญิงมีความสำคัญมาก ประชากรผู้หญิงในประเทศไทยมีถึง 51% เราจึงต้องมีนโยบายเพื่อดูแลผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ดีมากของพรรคพลังประชารัฐ ที่ช่วยเหลือด้านครอบครัวก็คือ ด้านสุขภาพ ทั้งสุขภาพของแม่ และสุขภาพของเด็กในครรภ์ เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกให้มากที่สุด โดยสามารถเลือกที่จะทำงานไปด้วยในระหว่างตั้งครรภ์ โดยที่รัฐสนับสนุนเงินตั้งแต่ท้องจนถึง 6 ขวบ คือ ตั้งแต่ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ค่าคลอด 10,000 บาท และค่าดูแลเด็กหลังคลอดอีกเดือนละ 2,000 บาท นี่คือการลงทุนในมนุษย์
ทั้งนี้ มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ชี้ว่า ช่วงอายุ 0-6 ขวบ คือช่วงเวลาสำคัญที่สุดในพัฒนาการของมนุษย์ ถ้าแม่มีสุขภาพที่ดีระหว่างตั้งครรภ์ ปัญหาสุขภาพของเด็กก็จะไม่เกิดขึ้น หรือน้อยลง เด็กที่ได้รับสารอาหารเพียงพอ จะมีพัฒนาการที่ดี และทำให้ผลการเรียนรู้ดีขึ้นอีกด้วย
ขณะที่ความปลอดภัยของผู้หญิงต้องใส่ใจ โดยเฉพาะเวลาเลิกงานกลับบ้านกลางคืน การเดินทาง ปัญหาซอยมืด ซอยเปลี่ยว ส่งผลคุณภาพชีวิตแย่ ไม่มั่นคงในชีวิต ใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดระแวง พรรคพลังประชารัฐใส่ใจเรื่องนี้ที่สุด เราจึงมีชุดนโยบาย เรื่อง ปลอดภัยใกล้ตัว โดยเราจะเพิ่มแสงสว่าง และเพิ่มเรื่องซีซีทีวี เชื่อมต่อกล้องวงจรปิดทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งระบุพิกัดตำแหน่งอัตโนมัติได้ทุกที่ เราจะมีแอปพลิเคชันชื่อว่า “บางกอก เอสโอเอส” ซึ่งเป็นแอปที่รวบรวมเอาทุกหน่วยงานฉุกเฉินตั้งแต่ ตำรวจ รถพยาบาล รถดับเพลิง กู้ภัย และอาสาที่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด เพียงเปิดแอปทิ้งไว้ เมื่อเราต้องเดินทางไปในที่เปลี่ยว หรือใช้บริการรถสาธารณะคนเดียว เพียงกดปุ่มเท่านั้น จะสามารถระบุตำแหน่งที่เกิดเหตุผ่านจีพีเอสได้เลย ตำรวจ หรือสองล้ออาสาฝ่าฉุกเฉินในโครงการของเรา จะสามารถมาถึงที่เกิดเหตุได้ภายในไม่เกิน 5 นาที โดยเราจะเป็นแม่งานรวบรวมหน่วยงานทั้งภาครัฐ อาสา และมูลนิธิต่างๆ มาช่วยกัน 
ซึ่งนโยบายต่างๆ "ทั้งหมดเหล่านี้คิดขึ้นเพื่อช่วยเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่พอ ตัวผู้หญิงเองอาจต้องกล้าและลุกขึ้นมาพูด หรืออย่างน้อยแจ้งความ เพราะจากสถิติองค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาติ (UN Women) 80% ของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเกิดเหตุขึ้น กลับไม่กล้าแจ้งความ หรือบอกใคร สิ่งที่เราจะผลักดัน คือ การเปลี่ยนระบบยุติธรรม และสังคม โดยการเพิ่มระบบความปลอดภัยเพื่อผู้หญิงให้มากขึ้น เราคิดว่าทุกสถานีตำรวจควรจะมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน และมีห้องส่วนตัวเพื่อรับแจ้งความกรณีเหล่านี้ด้วย เพื่อความสบายใจ และรู้สึกปลอดภัยของผู้หญิงเอง ควรหยุดวาทกรรมประชาธิปไตย แล้วหันมาให้ความใส่ใจนโยบายของผู้หญิงสักที" น.ส.ธณิกานต์ กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุนโฆษณาโดย


 
Blogger Templates