
ผู้ที่ทำงานอย่างหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ที่แท้จริงในประเทศไทย
อ้างอิงจากคำถวายพระพรชัยมงคล ของพลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ (กรุงเทพมหานคร รัฐสภา ๒๕๒๓) หน้า ๔ – ๕ ความว่า
“...ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา ถ้าเขามีข้าวมีปลาบริบูรณ์ บ้านเมืองก็สงบ แต่ถ้าเขาประสบความทุกข์ลำบาก ความยุ่งยากย่อมจะบังเกิด ...เพราะเกษตรกรผู้ยากจนต้องทำงานอย่าง “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” อยู่เดียวดาย
...ผู้ที่ทำงานอย่าง “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” ที่แท้จริงในประเทศไทย เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนในชาติ ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั่นเอง
พระปฤษฎางค์ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท หันสู่ฟ้าตลอดเวลา หากเทวดาให้ฝนตกไม่เพียงพอแก่การเพาะปลูก ก็จะทรงส่งฝนหลวงมาพระราชทาน หากฟ้าบันดาลให้ฝนตกมากเกินไป จนเกิดอุทกภัยน้ำท่วม ก็ทรงร่วมสร้างเขื่อนและคูคลองระบายน้ำจนเหือดแห้ง ทั้งยังทรงแบ่งที่ดินมหาศาลตามชานเมือง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในอนาคตอีกด้วย

พระพักตร์ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทก้มลงสู่ดินตลอดเวลา ทอดพระเนตรดูว่าเกษตรกรของพระองค์มีความเป็นอยู่อย่างไร ดินที่เขาทำมาหากินมีพอหรือไม่ พืชชนิดใดควรเพาะปลูก เพื่อให้เหมาะแก่ลักษณะภูมิประเทศ...
ข้าพระพุทธเจ้าได้มีโอกาสเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินหลายประเทศ ได้สังเกตด้วยความประหลาดใจว่า ไม่มีพระราชวังไหนในโลก เหมือนพระตำหนักจิตรลดาที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลายหลาก จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทำงานอย่าง “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” ด้วยพระองค์เอง...”
ขอบคุณที่มา Information Division of OHM


ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น