Social Icons

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จุดเปลี่ยน-อวสานธุรกิจขายตั๋วเครื่องบิน!? เมื่อ Ar-Pae.com ลงเล่นธุรกิจเอเจนซี่ ชี้ราคาตั๋วจะ Low-Cost กว่าเดิม

Photo: static.pexels.com
     ถ้าบอกว่าตั๋วเครื่องบินจะราคาถูกลง และสามารถได้มาโดยไม่ต้องเสียเวลาเฝ้าจอคอมฯ ทั้งวันทั้งคืน คุณจะเชื่อไหม?
     Little-Pae เอเจนซีคัดโปรฯ ตั๋วถูก ที่เพิ่งแตกไลน์จาก Ar-Pae.com เพจด้านการท่องเที่ยวและแนะนำโปรฯ ตั๋วเครื่องบินชื่อดัง สามารถทำสิ่งที่ว่ามาได้
     ไม่ใช่แค่ตั๋วเครื่องบิน แต่รวมถึงการจองที่พัก บัตร Pass ต่างๆ เช่น JR Pass, Swiss Pass ฯลฯ ทุกที่ทั่วโลก!
     “ผมจะเป็นคนที่กำหนดราคาได้เอง และน่าจะทำให้ราคาภาพรวมของตลาดน่าสนใจขึ้นเยอะ” ชายวัยกลางคนที่ไม่ขอเปิดเผยตัว และเรียกแทนตัวเองว่า ‘อาแปะ’ ปล่อยหมัดเด็ดระหว่างการสนทนา
     คอนเน็กชันในระดับล้วงโปรแกรมการขายจากฝ่ายมาร์เก็ตติ้งสายการบิน ระบบการทำงานที่ลดต้นทุนด้วยการใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก ฐานแฟนเพจ Ar-Pae.com ที่เหนียวแน่น 685,877 ราย ซึ่งช่วยประหยัดงบประชาสัมพันธ์และซื้อสื่อเพื่อให้เป็นที่รู้จัก บวกกับจุดยืนที่ต้องการให้ทุกคนได้เปิดโลกด้วยการออกเดินทาง
     ทั้งหมดนี้ทำให้ ‘ราคา’ ตั๋วฯ ที่มาจาก Little-Pae น่าสนใจกว่าเอเจนซีขายตั๋วฯ แบบเดิมๆ
     The Momentum ตั้งข้อสังเกตว่า การมาถึงของ Little-Pae อาจเป็นการปิดฉากธุรกิจเอเจนซีด้านการท่องเที่ยว?
     “ผมไม่คิดว่าใครเป็นคู่แข่ง ผมแค่เป็นตัวเลือกหนึ่ง”

Photo: wikipedia.org
     ในวันที่ธุรกิจยุคเก่ากำลังถูก disrupt จากธุรกิจในโลกยุคใหม่ โครงสร้างของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลได้ตัดตอนและลดบทบาทธุรกิจที่เป็น ‘ตัวกลาง’ ให้ค่อยๆ หมดความหมาย
     นอกจากธนาคาร นิตยสาร ห้างร้าน ฯลฯ เอเจนซีด้านการท่องเที่ยวก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ไม่พ้นโดนผลกระทบ
     และไม่แน่ว่า บทสนทนานี้อาจเป็นบทสนทนาสุดท้าย ก่อนธุรกิจเอเจนซีขายตั๋วเครื่องบินในเมืองไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
 
“ถ้าราคาไม่ถูก ผมก็หน้าแหกสิ 
เพราะทุกวันนี้คนเช็กราคาตามเว็บได้อยู่แล้ว ถูกไหม?”
ทุกวันนี้ราคาตั๋วเครื่องบินก็ถูกมากแล้ว ถึงขนาดที่จำนวนคนเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนมาก คำถามคือเรายังทำให้ราคาตั๋วถูกลงได้อีกหรือ
     Little-Pae หรือ ‘แปะน้อย’ เป็นเหมือนเอเจนซีที่บุ๊กกิ้งทุกๆ อย่างแทนนักท่องเที่ยวทุกคน ซึ่งต่างจากเอเจนซีทุกที่ก่อนหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ขาย และแต่ละบริษัทก็แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในองค์กร ไม่ว่าค่าดูแลลูกน้อง ค่าเช่าออฟฟิศ งบการตลาด โฆษณาและประชาสัมพันธ์ ฯลฯ นั่นหมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่ต้องใช้ทีมงานที่ใหญ่ขึ้นๆ เอเจนซีก็ต้องคิดกำไรเพิ่มจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตรงนั้น
     คำถามคือ ถ้าวันหนึ่งนักท่องเที่ยวสามารถจองตั๋วได้เองล่ะ? นั่นหมายความว่า ราคาตั๋วจะน่าสนใจขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งตัว ‘แปะน้อย’ คือนักท่องเที่ยวคนนั้น และสามารถที่จะจ่ายตั๋วในราคาที่มีต้นทุนน้อยกว่า ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะเราไม่ได้ใช้ต้นทุนหรือคนอะไรมากมาย แต่ใช้เงินส่วนใหญ่ลงทุนกับตัวระบบคอมพิวเตอร์ เพราะผมต้องการใช้คนให้น้อยที่สุด
     ซึ่งวิธีการนี้ผมคิดว่ามันน่าจะโอเคในการกำหนดราคาตั๋ว โดยที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง

แล้วตั๋วราคาถูกที่คุณว่ามาจากไหน
     ถ้ากรณีที่คุณเป็นคนซื้อ สิ่งที่ง่ายที่สุดคือจะมีเว็บเช็กราคาอยู่จำนวนหนึ่งในประเทศไทย เช่น skyscanner.co.th ที่คนทุกวันนี้ใช้กันอยู่แล้ว
     ขณะที่เอเจนซีจะรู้ข้อมูลโปรฯ ตั๋วล่วงหน้าก่อนที่ข้อมูลจะลงในเว็บเช็กราคาล่วงหน้าหนึ่งสัปดาห์ แล้วหยิบๆ มาโพสต์ในลำดับถัดไป
     นอกจากนี้ยังมีสเต็ปที่สามที่แอดวานซ์กว่า คือการรู้ว่าสายการบินจะทำโปรฯ อะไรก่อนจะให้ข้อมูลกับเอเจนซี โดยข้อมูลเหล่านี้มาจากฝ่ายมาร์เก็ตติ้งของสายการบิน
     ซึ่ง ‘แปะน้อย’ จะอยู่ในทุกสเต็ปที่ว่ามา
 
“ผมเป็นคนที่ไม่ชอบระบบหัวคิว”
ทำไมมาร์เก็ตติ้งของสายการบินต้องมาบอกข้อมูลที่เป็น ‘ความลับ’ กับคุณ
     ถ้าไม่บอก แคมเปญดีๆ ที่แต่ละเจ้าปล่อยออกมาก็มีโอกาสที่จะแย่งลูกค้ากัน เป็นปัญหาไหม?
     สมมติว่าวันนี้ 3 สายการบินออกโปรโมชันโตเกียวเหมือนกันเด๊ะๆ ลูกค้าเลือกไม่ได้ คำถามคือคุณจะปล่อยมาชนกันทำไม แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีโปรฯ จากสายการบินอะไรอีกเลย
     ยกตัวอย่าง พอใกล้สิ้นเดือน ทุกสายการบินประกาศตั๋วพร้อมกัน แต่คนซื้อก็มีจำนวนเท่าเดิม ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันสามารถเลี่ยงได้ ผมเหมือนเป็นคิวเรเตอร์ที่รู้ว่าแต่ละบริษัทกำลังจะมีอะไร ก็เรียงกันไปได้ ทุกบริษัทอยู่รอดได้ ไม่ต้องมานั่งแย่งลูกค้ากันเอง ถามว่าผมจัดคิวไหม ผมจัดคิวได้ส่วนหนึ่ง เช่น ถ้าเตือนไปแล้ว มาร์เก็ตติ้งฟังเรา ก็โอเค

อะไรที่ทำให้ ‘แปะน้อย’ มั่นใจว่าจะกำหนดราคาตั๋วได้ ‘ดี’ กว่าเอเจนซีเจ้าอื่น
     ก่อนจะตอบคำถาม ผมขออธิบายถึงที่มาของธุรกิจเอเจนซีขายตั๋วก่อนแล้วกัน สมมติว่าสายการบินทั่วโลกมีอยู่ 100 สายการบิน ในตอนแรกทุกสายการบินจะพยายามที่จะขายตั๋วด้วยตัวเอง แต่ด้วยระบบการจอง ระบบการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ ทำให้สายการบินไม่สามารถดูแลได้ทุกขั้นตอน ก็เลยเกิดตัวแทนการขายหรือ ‘เอเจนซี’ ขึ้นมา
     ซึ่งเอเจนซีหรือตัวแทนขายก็อาจจะลากทั้ง 100 สายการบินมาอยู่ที่ตัวเอง กลไกดังกล่าวทำให้เอเจนซีมีอำนาจในการต่อรอง ผลสุดท้ายไม่ว่าผู้ซื้อจะซื้อตั๋วจากสายการบินหรือเอเจนซีก็จะได้ราคาไม่ต่างกัน เผลอๆ บางครั้งเอเจนซีอาจขายถูกกว่า แต่ทีนี้อย่างที่บอกไป ระบบของเอเจนซีมีค่าใช้จ่าย นั่นหมายความว่า เอเจนซีก็ต้องทำกำไรเพื่อให้บริษัทอยู่รอด
     ถ้ามีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งมาอยู่ในตำแหน่งตรงนี้ แล้วไม่ได้คิดจะทำกำไรมากมาย ผมเลยตั้ง ‘แปะน้อย’ ขึ้นมา คำถามคือทำไมผมถึงกำหนดราคาตั๋วให้น่าสนใจกว่าไม่ได้ล่ะ
     อย่าลืมนะประเด็นหลักก็คือ ‘แปะน้อย’ เป็นคนซื้อคนหนึ่ง ไม่ใช่คนขาย นั่นหมายความว่าเราเป็นแค่นักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่ซื้อของดีในราคาที่ดีได้แค่นั้นเอง

Photo: wikipedia.org
อยากรู้รายละเอียดที่บอกว่า คุณ ‘กำหนดราคา’ ได้ มันเป็นยังไง
     ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา ผมจะดูข้อมูลราคาตั๋วจากสายการบินแต่ละแห่ง คล้ายๆ กับที่ดูราคาหุ้นที่ปรับขึ้น-ลงในตลาดหุ้น เช่น วันนี้ผมอาจจะบอกว่า​โตเกียวควรซื้อ เพราะราคาดี แต่นิวซีแลนด์ยังไม่น่าซื้อ เพราะแคมเปญไม่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมทำเป็นปกติอยู่แล้วตอนทำเพจ Ar-Pae.com เพียงแต่เมื่อก่อนเราส่งข้อมูลตรงนี้ให้เอเจนซี แต่วันนี้เราก็ส่งให้ ‘แปะน้อย’ ที่เป็นตัวแทนคนซื้อ โดยผมดูแค่อย่างเดียวว่า ประโยชน์ของคนซื้อคืออะไร ไม่ได้ดูประโยชน์ของคนขาย หรือมีนอกหรือมีในว่าเชียร์บริษัทนี้ ผมจะได้คอมมิชชัน

เราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่คุณพูดอย่างเช่น ไม่มีนอกมีในกับสายการบิน หรือมองประโยชน์ของคนซื้ออย่างเดียวคือเรื่องจริง?
      ถ้าผมประกาศแล้วมันไม่ดีอย่างที่คุยคุณจะซื้อทำไม? และถ้าราคาไม่ถูก ผมก็หน้าแหกสิ เพราะทุกวันนี้คนเช็กราคาตามเว็บได้อยู่แล้วถูกไหม?

เท่าที่ฟังมา รู้สึกว่าคุณไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่คนเราเสียเวลาไปกับการนั่งจ้องหาตั๋วโปรฯ ที่ถูกที่สุด เพราะอะไร?
     ‘เวลา’ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ และมาไวไปไว นั่นหมายความว่า คุณควรจะเอาเวลาเหล่านั้นไปทำมาหากินเถอะ แล้วส่วนที่เหลือให้ ‘แปะน้อย’ ดูแลให้เถอะ ไม่ต้องไปนั่งจับตาดูโปรฯ ตั๋วตลอดวันตลอดคืน เพราะเราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าตั๋วราคาดีจะมาตอนไหน ถามว่าจำเป็นไหม ให้คนอื่นมาดูแทนให้ดีกว่า
     อย่างตัวผมเองไม่เคยหาอะไรที่ราคาถูกที่สุดเลย เราหาแต่จุดที่มีความเหมาะสมที่จะซื้อ ที่จะใช้พอ แล้วเอาเวลาที่มีไปทำมาหากินดีกว่า มันไม่มีความจำเป็นเลยที่คุณจะเสียเวลามานั่งเฝ้าหาตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถไฟ หรือโรงแรม เพื่อหาคำว่า ‘ราคาถูกที่สุด’
     ถ้าคุณทำอะไรมากกว่านั้นปวดหัวตายห่า อะไรก็ตามที่มันไม่พอดี ก็ไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้าเพื่อให้ได้ราคาถูกที่สุด หรือทำให้ชีวิตลำบากกว่าสิ่งที่เป็น มันจะเสียเวลาโดยใช่เหตุ
     สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการดูชอยส์ที่ดีที่สุด เซอร์วิสที่ดีที่สุด ออปชันที่ดีที่สุด แล้วราคาตอบโจทย์เงินในกระเป๋าคุณ แค่นั้นก็พอแล้วครับ

ทำไมคุณถึงเลือกเป็นตัวแทนนักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่การเป็นตัวแทนผู้ขายได้กำไรดีกว่า
     ตอนทำเพจ Ar-Pae.com ผมมีเรื่องประทับใจที่ลูกเพจอินบ็อกซ์เข้ามาเยอะมาก อย่างครั้งหนึ่งมีคนขายแรงงานที่เขาอยู่ต่างประเทศ แล้วเขาก็ไม่เคยได้กลับบ้านเลย เพราะเม็ดเงินที่เขามีอยู่ไม่สามารถที่จะซื้อตั๋วได้ เพราะเขาจำเป็นจะต้องส่งเงินที่เขามีทั้งหมดเลี้ยงลูกและแม่ที่ไม่สบาย แต่ทันทีที่ผมส่งโปรโมชันตั๋วเครื่องบินราคา 5,000 บาทลงไปในเพจ น้ำตาเขาแทบไหล เพราะเขาได้โอกาสที่จะกลับบ้านไปเยี่ยมแม่ที่กำลังไม่สบาย ซึ่งไม่รู้ว่าจะเสียเมื่อไร และมีโอกาสได้พบหน้าลูกที่ไม่เคยได้พบกันเลย
     หลังจากที่ผมได้รับจดหมายฉบับนี้ ผมอ่าน ผมซึ้ง และมันมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก และผมแทบน้ำตาไหลทุกครั้งที่เห็น
 
“หนทางเดียวที่ทำให้คนไตร่ตรองและอยู่ร่วมกันได้
ก็คือ ต้อง ‘เห็น’ อะไรมาเยอะ”
ถ้าสิ่งที่คุณพูดมาทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ผมอยากรู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาทำเพจ Ar-Pae.com และ Little-Pae
     ผมเห็นความขัดแย้งทางสังคม ผมเห็นความคิดของแต่ละคนที่พุ่งไปในจุดเดียว และเราไม่ได้เปิดความคิด เพื่อจะยอมรับความคิดคนอื่น ผมรู้สึกว่าเราดราม่ากับชีวิตกันโดยใช่เหตุ หนทางเดียวที่ทำให้คนไตร่ตรองและอยู่ร่วมกันได้ก็คือ ต้อง ‘เห็น’ อะไรมาเยอะ
     ถ้าเมื่อไรก็แล้วแต่ที่คุณไปยืนบนโลกที่กว้างกว่า คุณจะรู้เลยว่าแต่ละคนมีความชอบไม่เท่ากัน สิ่งเดียวที่ ‘อาแปะ’ หรือผมทำให้ทุกคนได้ คือพยายามจะสรรหาโอกาสให้คนทุกระดับชั้นในสังคม ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือเงินน้อยก็ตามได้ออกไปเห็นโลกกว้าง
     สิ่งที่ผมให้คุณคือโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น คุณจะเห็นโลกมากขึ้น แล้วคุณจะรู้เองว่าคุณควรจะพัฒนาตัวเองไปทิศทางไหนที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น และถ้าคุณประสบความสำเร็จ
     ‘อาแปะ’ ดีใจนะ.

Photo: static.pexels.com

DID YOU KNOW?

685,877 คือจำนวนลูกเพจของ Ar-Pae.com
     อาจดูน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ แต่ถ้ามองในมุม ‘กลุ่มเป้าหมายทางการตลาด’ ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มคนที่สนใจระดับ ‘ตัวจริง’ และพร้อมจะออกเดินทางเมื่อมีตั๋วในราคาที่โดนใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้สนับสนุนโฆษณาโดย


 
Blogger Templates